หน้าร้าน..กว้าง..ดีไซน์ยังไง

ในบางโครงการที่เราอยากเข้าไปจับจองพื้นที่เพื่อเปิดร้านอาหารนั้น จริงอยู่ว่าเราไม่สามารถที่จะกำหนดขอบเขตหรือรูปทรงของพื้นที่ร้านได้ตามใจชอบ แม้ว่าบางท่านอาจจะชอบพื้นที่ ทรงจตุรัส หรือแบบทรงผืนผ้าที่มีหน้าร้านแคบแล้วลึกเข้าไปด้านใน หรือถูกโฉลกกับพื้นที่ทรงโค้ง ทรงกลมแบบเปิดโล่งก็ตาม แต่ด้วยความชอบในทำเลและจำนวน traffic ลูกค้าในโครงการ ซึ่งคาดว่าเหมาะกับ Brand ของเราแล้ว ไม่ว่าพื้นที่ที่ได้รับมอบไว้ จะมาทรงไหนก็ขอลองดู
.
สิบเก้าเมตรแปดสิบเซน คือความกว้างของหน้าร้านที่รับมอบมาออกแบบปรับปรุงในครั้งนี้ โครงการจริงที่ YL ขอมาแบ่งปันเพื่อเป็นข้อมูล คือ ฮั่วเซ่งฮง สาขา MBK ด้วยหน้ากว้างของร้านที่มากขนาดนี้การจะแบ่งโซนออกเป็นส่วนๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์นั้น มีหัวใจหลักอยู่ 3 ส่วนดังนี้
.
1. ครัว
ไปดูพื้นที่จริงก่อนเลยเพื่อจะตอบคำถามหลักให้ได้ว่า จะต้องวางอยู่ตำแหน่งไหน เนื่องจากมันสัมพันธ์กับงานระบบที่ทางโครงการเตรียมไว้ให้ สำหรับฮั่วเซ่งฮงนั้น เติบโตมาจากเยาวราช จะมีการจัดเรียงวัตถุดิบสดๆให้ลูกค้าได้เห็นก่อนเข้าร้านและสำหรับสาขานี้ออกแบบให้เปิดพื้นที่ครัวโชว์ส่วนสำคัญให้ลูกค้าเห็น เช่น เตาอบ (roast) เป็ดแบบหมุน, หม้อนึ่งเข่งติ่มซำ ให้เห็นควันลอยฟุ้งเชื้อเชิญให้เข้ามาทาน
.
2. ทางเข้าร้าน
ด้วยขนาดหน้าร้านที่กว้างมาก ทางเข้าควรจะใหญ่ประมาณ 2.5-4 เมตร เพื่อให้พละกำลังของทางเข้าดูเหมาะสมกับขนาดโดยรวมของร้าน ไม่ดูจิ๋วเกินไปจนสังเกตหาทางเข้ายาก มีพื้นที่ให้พนักงานหน้าร้านยืนอธิบายโปรโมชั่นให้กลุ่มครอบครัว ในขณะที่ลูกค้าท่านอื่นก็เดินเข้าได้
.
3. บรรยากาศบริเวณที่นั่ง
พื้นที่ส่วนนี้คือส่วนที่เป็นหน้าตาของแบรนด์และบ่งบอกบรรยากาศของการรับประทาน ทาง YL แนะนำว่าอย่าเปิดร้านให้โล่งจนมองเห็นที่นั่งทะลุครบทุกที่จนเกินไป ลองออกแบบให้มีการใช้ Partition ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวบ้าง สร้างความเป็นโซนนิ่งที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของเรา บางคนไม่ได้ชอบเคี้ยวคำโตโชว์ริมกระจก บางท่านไม่ชอบคนเยอะๆเดินผ่านไปมาเวลาทานข้าว พื้นที่ที่เรากั้นแบ่งไว้อย่างดีจะช่วยสร้างบรรยากาศให้อยากเข้ามารับประทาน
.
โดยสรุปแล้วหน้าร้านกว้างมากๆนั้นก็ถือเป็นข้อดีได้เช่นกัน เพื่อให้เราได้ออกแบบบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับร้านอาหารของตน ทาง YL ขอให้ลองนำหัวใจ 3 ข้อไปปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่และแบรนด์ของคุณดู



Leave a comment