คุณภาพเสียงในสำนักงาน : แม้ไม่อยากได้ยิน… ยังได้ยิน

ในการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในเพื่อให้ได้คุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีต่อผู้ใช้งานนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพ อันได้แก่ แสง, สี, อุณหภูมิ, วัสดุ, เสียง ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องของเสียงนั้น แม้เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่กลับส่งผลต่อคุณภาพของชีวิตโดยตรง คือ คุณภาพสิ่งแวดล้อมทางเสียงที่ดีจะทำให้สมาธิการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้น ลดความผิดพลาดในการสื่อสาร ไปจนถึงลดความเครียดของพนักงานลง
.
ในปัจจุบันที่ลักษณะการทำงานแบบ Open Space ได้รับความนิยม ปัญหาเรื่องเสียงรบกวนในออฟฟิศกลายเป็นเรื่องท้าท้ายต่อสมาธิและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งเราไม่สามารถปล่อยให้คุณภาพของเสียงที่ดีนั้น บังเอิญเกิดขึ้นได้เอง
.
บทความในครั้งนี้เราจะเน้นเรื่องของการป้องกันไม่ให้เสียงดังเข้ามารบกวน และ ป้องกันเสียงลอดออกไป ตัวอย่างที่มักจะพบเป็นประจำสำหรับพื้นที่สำนักงานคือ ทำห้องประชุมมาแล้ว เกิดเสียงเล็ดลอดออกมาให้คนที่นั่งรอด้านนอกได้ยินชัด หรือ เพื่อนบ้านที่เช่าออฟฟิศอยู่ติดกัน พูดนินทาฉ่ำๆได้ยินเป็นคำชัดเจน
.
เข้าใจที่มาของปัญหาเสียงรบกวน
เสียงรบกวนในออฟฟิศเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยหลักๆ ดังนี้
1. การออกแบบพื้นที่: โครงสร้างผนัง พื้น และเพดานที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันเสียงรบกวน จะทำให้เสียงรั่วไหลผ่านได้ง่าย
2. วัสดุตกแต่ง: วัสดุที่ใช้ตกแต่งผนัง พื้น และเพดานบางประเภทมีประสิทธิภาพในการดูดซับเสียงต่ำ ส่งผลให้เสียงสะท้อนและก้องกังวานภายในห้อง
3. เฟอร์นิเจอร์: เฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะทำงานที่อยู่ใกล้กันมากเกินไป หรือฉากกั้นห้องที่มีความสูงไม่เพียงพอ ล้วนเป็นสาเหตุของเสียงรบกวน
4. พฤติกรรมการทำงาน: เสียงพูดคุยโทรศัพท์ เสียงพิมพ์งาน หรือแม้แต่เสียงเคี้ยวอาหาร ล้วนสร้างเสียงรบกวนให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
.
ทำความรู้จักกับตัวช่วยสำคัญ: STC และ NRC
ในการแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนในออฟฟิศ 2 ตัวช่วยสำคัญที่เราต้องรู้จักคือ
• STC (Sound Transmission Class): ดัชนีวัดระดับการกันเสียงผ่านผนัง วัสดุ หรือโครงสร้างต่างๆ ยิ่งค่า STC สูง แสดงว่าผนังหรือวัสดุนั้นสามารถกันเสียงรบกวนได้ดี
• NRC (Noise Reduction Coefficient): ค่าสัมประสิทธิ์การดูดซับเสียงของวัสดุ บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของวัสดุในการดูดซับเสียงสะท้อนภายในห้อง ยิ่งค่า NRC สูง แสดงว่าวัสดุนั้นดูดซับเสียงได้ดี
.
แนวทางการออกแบบเพื่อลดเสียงรบกวนในออฟฟิศ
ทาง YL Studio ของเรา ขอนำเสนอแนวทางเพิ่มคุณภาพเสียงภายสำนักงาน และ ลดเสียงรบกวนดังนี้
1. ออกแบบผังพื้นที่อย่างชาญฉลาด: แบ่งโซนพื้นที่ทำงานอย่างเหมาะสม จัดวางกลุ่มงานที่มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกันไว้ด้วยกัน เช่น โซนพูดคุยเสียงดัง / โซนทำงาน / โซน Buffer / โซนโฟกัสหรือเงียบ
2. เลือกวัสดุตกแต่งที่มีประสิทธิภาพ: เลือกใช้ผนัง พื้น และเพดานที่มีค่า STC สูง หรือวัสดุที่มีค่าการกั้นเสียงผ่านได้ดี (แนะนำค่า STC 40 ขึ้นไป)
3. ติดตั้งฉากกั้นห้อง: ติดตั้งฉากกั้นห้องที่มีความสูงจรดท้องพื้นด้านบนและค่า STC เหมาะสม (ดูภาพประกอบ)
เพราะปัญหาเสียงเล็ดลอดที่พบเจอเป็นประจำคือผนังแบ่งกั้นออฟฟิศเช่านั้น ไม่ได้ทำการกั้นจนถึงท้องพื้น
4. วางตำแหน่งปลั๊กไฟฝังผนังให้เหลื่อมกัน: เพื่อลดเสียงเล็ดลอด (ดูภาพประกอบ)
5. เสียงเล็ดลอดมาทางท่อแอร์: วางแนวท่อแอร์ให้มีมุมฉากช่วยกั้นเสียง และ เสริมหรือบุฉนวนดูดซับเสียงด้านในท่อแอร์
6. วางแผนกับ Landlord ก่อนเช่าพื้นที่: ปัญหาเสียงเล็ดลอดที่พบเจอเป็นประจำคือผนังแบ่งกั้นออฟฟิศเช่านั้น ไม่ได้ทำการกั้นจนถึงท้องพื้นด้านบน อาจจะเป็นเพราะลดงบประมาณก่อสร้าง หรือ สะดวกต่อการรื้อถอนขยายพื้นที่เช่าก็ตาม หากบริษัทเราสามารถเข้าสำรวจพื้นที่ก่อนเช่าและเจรจาประเด็นเหล่านี้ได้ จะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน
.
วางแผนคุณภาพเสียงในสำนักงานแต่เนิ่นๆ
เรื่องของคุณภาพเสียงที่ดีภายในอาคาร ยังมีประเด็นรายละเอียดที่ต้องลงลึกอีกมาก ดังนั้นในขั้นต้นทาง YL Studio ขอนำเสนอเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบออฟฟิศที่คำนึงถึงปัญหาเสียงรบกวน จึงขอเน้นย้ำให้สำรวจพื้นที่และวางแผนให้ดีก่อน จะช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และคุ้มค่ากับเงินลงทุน



Leave a comment