ออกแบบร้านค้าอย่างไรเมื่อลูกค้าเป็นตลาดกรุ๊ปทัวร์ (ตอนที่ 1)

เมื่อทำเลของร้านค้าอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวการออกแบบร้านจึงต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการขายสินค้ากับกลุ่มทัวร์ที่จะมาใช้บริการครั้งละหลายๆคนในเวลาเดียวกัน  ครั้งนี้ YL ขอนำประเด็นพื้นฐานที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการช้อป(flow)และช่วยเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

ตอนที่ 1 : space design& circulation

– cashier

ตำแหน่งรับทรัพย์ของทางร้าน  ควรคำนึงถึงเป็นปัจจัยแรกๆในการจัดวาง  ขนาดของพื้นที่ร้านที่สัมพันธ์กับขนาดของ cashier  , จำนวนพนักงานภายในร้านที่ต้องบริการลูกค้า  กรณีที่ร้านค้ามีขนาดเล็กและจำนวนพนักงานน้อย  ตำแหน่ง cashier อาจต้องทำหน้าที่ในการพูดต้อนรับลูกค้าและอธิบายสินค้ากับลูกค้าบ้างในบางที  ตำแหน่งนี้ควรวางในมุมที่มองเห็นลูกค้าและร้านค้าได้อย่างทั่วถึง

และที่สำคัญการคำนึงเรื่องฮวงจุ้ยควบคู่ไปกับการปรับแก้ไขกระบวนการวางผังร้านค้าตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบจะช่วยให้เกิดความพึงพอใจกับทุกฝ่าย และป้องกันการทุบรื้อหรือต่อเติมโดยไม่เหมาะสมกับตัวร้านที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว

-ทางเดิน :

ในกรณีที่ร้านค้าของท่านมีการใช้ตะกร้า/รถเข็นในการหยิบสินค้า ให้ใส่ใจกับการคำนวณระยะทางเดินที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเบียดชนกันเองหรือกระแทกเข้ากับชั้นวางสินค้าในขณะที่ต้องเดิน/เข็นรถสวนทางกัน

 

-ความปลอดภัย :

ในส่วนของลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า  ระมัดระวังเรื่องมุมแหลมคมต่างๆภายในร้าน  จากการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และจัดวางของตกแต่งต่างๆ  ไปจนถึงวัสดุที่เลือกใช้ภายในร้าน  ว่ามีความเสี่ยงต่อการแตกหักหรือร่วงหล่นใส่ลูกค้าหรือไม่  ถ้ามีการเข็นรถไปเฉี่ยวชนเป็นต้น

สำหรับความปลอดภัยของสินค้าภายในร้าน  โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่พร้อมๆกัน  การออกแบบและจัดวางผังร้านให้ลดซอกหลืบหรือมุมอับสายตา  จะช่วยให้พนักงานที่มีจำนวนจำกัดสามารถดูแลลูกค้าได้ทั่วถึง  พิจารณาควบคู่ไปกับตำแหน่งการติดตั้งกล้องวงจรปิด, สัญญาณกันขโมย หรือตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย เพิ่มไว้ด้วย     อย่าลืมว่าการออกแแบบที่มีระบบความปลอดภัยดี จะช่วยให้ทั้งลูกค้าและทางร้านมีบรรยากาศที่ผ่อนคลายและน่าวางใจร่วมกัน